วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

เกรียนกรึ่มกรึ่ม ตอน ครั้งหนึ่งในร้านเกม



(ต้นฉบับเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2556)



มีคนบอกผมว่า ผมเป็นคนที่โชคดีครับ


โชคดีมากๆ ที่ได้เกิดมาเห็นวิวัฒนาการของเครื่องเกม ร้านเกม และคนเล่นเกม และได้ปรับตัวมากับมันอย่างเป็นระบบ


ตั้งแต่จอยอาตาริ ที่เป็นแท่งเดียวโยกๆ มันส์ๆ ดูไกลๆ นึกว่าเซ็กซ์ทอย จนมาถึงจอยเพลย์สเตชั่น ที่ออกแบบมาให้มีแง่งจับ สำหรับให้เกรียนฟาดหัวกันได้สะดวกเวลาแพ้วินนิ่ง และจอยพิสดารอะไรอีกหลายอย่าง แต่ไม่รวมถึงน้องจอย สก๊อยร้านอาหารตามสั่งแถวบ้าน






แน่นอนว่าจนถึงตอนนี้ ผมจัดว่าเป็นเกรียนที่กร้านชีวิตสุดๆ คนนึง



ดูจากหนังหน้า และผิวพรรณที่บุกตะลุยร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ไม่ได้เกิดมาบนครอบครัวมีอันจะกิน ที่ลูกอยากได้เครื่องเกม ไม่ต้องออกแรงดิ้นเบรคแดนซ์สักแคลรอลี่ พ่อแม่ก็แทบจะหาเครื่องเกมมาประเคนให้


ชีวิตผมออกบู๊ตั้งแต่ 7 ขวบ กำหมัดชูขึ้นฟ้า ก้มหน้าปั่นจักรยานกรุ๊งกริ๊ง ลายหน้ากากแก้วด้วย สีชมพูโคตรหวาน ออกตะลุยร้านเกม


ขอนอกเรื่องแป๊บ อันนี้เป็นปมตั้งแต่เด็ก 
พูดถึงแล้วมันจี๊ด


ตอนเด็กๆ เทรนจักรยานกับเด็กผู้ชายนี่ เป็นของคู่กันเลยนะครับ เมื่อก่อนเด็กปั่นจักรยานนี่ดูเก๋ามาก ประมาณเด็กแว้นเดี๋ยวนี้อ่ะ เราก็อยากได้บ้าง ก็เลยไปขอแม่ซื้อ แล้วแม่ผมนี่แกแวะซื้อให้เลยนะ ไม่ได้พาไปเลือกหรอก


คุณเอ้ย พอรู้ว่ายอมซื้อให้โคตรดีใจ แต่พอเห็นของแทบกรี๊ด


ดีไซน์ฆ่ากันทั้งเป็น ชมพูกระแทกตาทั้งคัน!!! ลายหน้ากากแก้วตาหวาน!!! ตระกร้าหน้าอีกต่างหาก....


จักรยานลูกสาวข้างบ้านยังไม่หวานขนาดนี้!!!!


แม่บอกซื้อมาเพราะเหลือคันเดียว ที่เหลือก็คันใหญ่ไป ไอ้เราก็โอเค ไม่เป็นไรแม่ เดี๋ยวไปโละตระกร้าออก พ่นสีใหม่เองก็ได้


โอ้โหเท่านั้นแหละหม่อมแม่ขึ้นเลย!! ไม่ยอมเลย หาว่าทำลายข้าวของ ถ้าพ่นสีใหม่ก็เอาเงินมา


หลังจากนั้นชีวิตนี่นรกชัดๆ อยากปั่นก็ปั่นได้แค่หน้าบ้าน ไม่กล้าออกไปไหนไกลกว่านี้ เผลอๆ จังหวะดีๆ ก็พยายามเอารถไปขูดกับขอบปูน ตรงไหนแฉะๆ ก็แกล้งล้มให้โคลนมันเกาะ จะได้บังอีหน้ากากถ้วยมัน 


กว่าสติ๊กเกอร์จะลอก สีลอก ใช้เวลาเกือบเดือน ได้จักรยานเก่าๆ กรังๆ มาคันนึง น้ำตาจะไหลเป็นเลือด


ตั้งแต่บัดนั้นเกลียดการ์ตูนเรื่องหน้ากากแก้วอย่างไม่มีเหตุผล ตอนช่อง 9 เอามาฉายใหม่ แทบจะติดระเบิดพลีชีพแล้ววิ่งไประเบิดตึก


กลับมาเรื่องร้านเกม เนื่องมาจากว่าผมปั่นหน้ากากแก้วออกลุยร้านเกมแต่เด็ก ผมจึงได้เห็นพัฒนาการความคลาสสิคของมันเป็นลำดับขั้น


สมัยผมเด็กๆ นี่ ร้านเกมไม่ต่างอะไรกับซ่องโจร บรรยากาศดิบมาก ห้องแถวเก่าๆ ด้านหน้าร้านต้องหาฉากมาปิดกั้นแสงให้มืดๆ ข้างในร้านนี่มืดตึ้บ มีเพียงแสงจากทีวีเท่านั้น แอร์ไม่มี ฝันไปเถอะ


สมัยนั้นแบ่งวรรณะกันอย่างชัดเจนครับ คนรวยเล่นอยู่บ้าน พวกกร้านๆ จนๆ อยู่ที่นี่เลย บางคนนี่เล่นไปถุยไป สเลดเต็มพื้น บ้างก็ซื้อขนมมานั่งกินเลอะเทอะไปหมด


เมื่อก่อนร้านเกมนี่ จะมีแค่ 2 ชื่อเท่านั้นนะครับ


คือ “ร้านป้า” กับ “ร้านลุง”


ตั้งชื่อตามคนเปลี่ยนแผ่น บางร้านเจ้าของไม่ได้แก่ขนาดนั้น ก็ยังจะไปเรียกว่าร้านป้า แต่พอเปลี่ยนแผ่นเรียกพี่นะ แต่พอเพื่อนถามร้านไหน บอกร้านป้า เจ๊เค้าไปฆ่าหมกส้วมก็ดีแค่ไหน


ร้านแบบนี้ ถ้าพ่อแม่จะมองว่าเด็กมามั่วสุมก็ไม่แปลก บรรยากาศชวนคิดซะขนาดนั้น ทั้งที่จริงๆ ยาเสพติดก็ไม่มีนะ พวกสก็อยก็ไม่มี มีแต่เด็กหัวเกรียนนั่งโวยวายเป็นหย่อมๆ แต่ถ้ามองจากไกลๆ จะดูเหมือนนั่งดูดม้ากันมากๆ


การคิดเวลาร้านแบบนี้ จะมี 2 แบบ นั่นคือไม่ตั้งเวลาปิดทีวี ก็เขียนจดเวลาไว้ แล้วก็เดินมาบอก ซึ่งผมชอบอย่างหลังมากกว่า เพราะบางทีป้าแกลืมไง มัวแต่ทอดปลา ซักผ้า แคะเล็บเท้า กว่าจะมาบอกผมก็กำไรไปแล้ว 15 นาที ส่วนไอ้แบบแรกนี่ไม่ได้ลุ้นเลย พอเด้งเตือนขึ้นมานาทีสุดท้ายนี่ ตั้งตัวไม่ทันทุกที จะขอเซฟก็ไม่ได้ จะเฮี๊ยบไปไหน แบบแรกนี่ขาดทุนไปหลายวิ ไม่ชอบเลย


พอวัยรุ่นหน่อย ผมเรียกยุคนั้นว่า “ยุควินนิ่งครองเมือง” หรือไม่ก็ “เคาท์เตอร์สไตรค์ครองโลก”



ความเป็นออนไลน์จะเริ่มกรึ่มกรึ่ม ตอนนั้นเน็ตกับเกมยังแยกทางกันอยู่ ยังไม่ฟีดเจอริ่งกัน ความออนไลน์จะบังเกิดขึ้นในร้านเท่านั้น เราจะได้ยินมิตรภาพผ่านเสียงในร้านเกมกับประโยคฮิต


“เฮ้ยย!!! โดนยิงได้ไงวะเนี่ย!!”


ประโยคนี้ควบทีเดียว 2 เกม สำหรับวินนิ่งความหมายของมันคือ เล่นอยู่ดีๆ แม่มก็วันทูเจาะมาดื้อๆ ซะงั้น ส่วนสำหรับพวกที่เล่นเคาท์เตอร์ ความหมายของมันคือ หลบหลังกล่องแล้ว ตายห่าหลังกล่องซะงั้น!! โดนยิงทะลุมาเฉย


สวนดุเสียดโพลเคยหาค่าเฉลี่ยมาแล้ว ว่า 1 วัน เด็กไทยพูดประโยคนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านครั้ง


ถึงยุคนี้ เจ้าของร้านเริ่มไม่ใช่ป้าแล้ว อายุเฉลี่ยเริ่มน้อยลง อัตราการเปลี่ยนแผ่นเกมก็น้อยลงด้วย เพราะบางร้านมีแค่วินนิ่งเกมเดียว เอาแผ่นคาเครื่องมันอยู่ยังงั้นแหละ แล้วก็ตั้งชื่อประกาศศักดาเลยว่า “ร้านวินนิ่ง”


มีอยู่เกมเดียว แต่หลายแผ่น!! แบบให้เลือกเลยว่าเอาอีดิท อีดอกมากน้อยแค่ไหน


มีหลายร้านเริ่มจัดแข่งขันกันเอง โปรโมทกันเอง บางร้านก็อลังการนะครับ บางร้านก็โคตรจืดจางเลย


อย่างร้านที่ไอ้แจ่มใช้น้ำลายวิเศษก็เอากะเค้าด้วย เงินรางวัลตั้ง 800 บาท เมื่อก่อนถือว่าโคตรเยอะเลยนะ คนสมัครหายห่วงเลย เยอะมาก


ถูกบังคับไป 2 คน สมัครใจไม่มี.....


เริ่มแข่งก็เป็นรอบชิงชนะเลิศซะแล้ว บางคนไม่รู้เรื่อง นอนเกาไข่อยู่บ้าน ก็ให้ไปตามมาสมัครอีกต่างหาก อนาถแท้ สุดท้ายเงินรางวัลก็ยกเลิกไป เพราะไม่คุ้ม ผู้ชนะได้กินเย็นตาโฟแทน


เรื่องนี้ไอ้แจ่มไม่รู้ ทุกวันนี้มันก็ยังคิดว่า มันปิดร้านเกมด้วยน้ำลายวิเศษของมันอยู่


ถัดมาจากนี้ เกมออนไลน์เริ่มมาแล้วครับ และขอบอกว่า แรคนาร็อคใช้เวลาไม่นานจริงๆ สำหรับการ “ยึดครองโลก”







บอกตรงๆ ว่า ผมเป็นคนไม่ถูกกับเกมภาษามาตั้งแต่เด็ก ชอบเกมแอคชั่นมาก ชอบบังคับเอง ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าไอ้การคลิกหนึ่งครั้ง แล้วก็นั่งดูตัวละครไปตีมอนสเตอร์ปั่กๆๆๆ มันมันเทิงตรงไหน


ผมเลยต้องเล่น เล่นมา 2 ปีเพื่อหาคำตอบ ก้อออ.... ยังไม่รู้ว่าสนุกตรงไหน ก้อออ..... เลยต้องเล่นต่อไป เล่นต่อไป และเล่นต่อไป ไม่จบไม่สิ้น เหมือนชีวิตมีกรรมยังไงไม่รู้


ยุคนี้ต้องบอกว่า เกมนี่ติดกันเยี่ยงยาเสพติดเลยครับ บางคนนี่ติดแบบเสียผู้เสียคนเลยทีเดียว คนบางกลุ่มอาการหนักถึงขนาดเอาเขียงเตารีดมาแต่งคอสเพลย์ก็มี ไม่รู้พวกไหน น่าจับส่งโรงบาลบ้าจริงๆ


ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงทองของการทำลายสถิติของใครหลายๆ คนครับ โดยเฉพาะสถิติเล่นเกมอึด บางคนเล่นจนตายคาคอม ออกทีวีให้โลกตะลึงมาแล้วก็มี เดือดร้อนถึงญาติพี่น้องต้องเผาบัตรเติมชม. ไปให้อีก 


อย่างผมนี่ก็เคยพิสูจน์ใจรักมาแล้ว ร้านเกมส้วมแตกผมก็ยังไม่ออกจากร้าน ชั้น 2 นี่ น้ำเหลืองไหลตามฝ้ามาเป็นคราบๆ แล้ว ก็ยังตีมอนสเตอร์ต่อไป ไม่รู้ต้องให้ขี้หล่นมาใส่หัวก่อนรึไงถึงจะลี้ภัยได้ คิดๆ แล้วก็ตลกตัวเอง


ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุค กี่สมัย ความเป็นเด็กเล่นเกมก็ยังไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่อยู่ดี


แต่สำหรับผม ผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียว เพราะอย่างน้อย สิ่งที่เราเข้าไปคลุกคลี มันก็ยังเรียกได้ว่าเป็นสังคม มีการแข่งขัน มีการแบ่งปัน และมีเรื่องราวให้เราจดจำ อย่างน้อยๆ มันก็ยังดีกว่านั่งเล่นเกมคนเดียวในบ้าน


ผมว่า สีสันในชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไร้สาระ ผมว่ามันคือเรื่องจริง


ใครที่รู้สึกว่าติดบ้านเกินไป ลองเปลี่ยนบรรยากาศดูก็ไม่เสียหายนะ  
สักครั้งหนึ่งก็ยังดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น